ที่มาอุปนิสัยแบบนาร์ซิสซัส (Narcissistic personality disorder) Part 2

ที่มาอุปนิสัยแบบนาร์ซิสซัส

ที่มาอุปนิสัยแบบนาร์ซิสซัส มีที่มาหลากหลายขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก บาดแผลและปมในจิตใจ ทั้งการถูกเลี้ยงดูมาอย่างปล่อยปละละเลย ทารุณกรรมไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือการกระทำ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ หรือในกรณีที่ถูกปลูกฝังให้มีความเชื่อว่าตนเหนือกว่าผู้อื่น ซึ่งจากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีจุดร่วมอยู่อย่างหนึ่งก็คือ การละเลยเรื่องอารมณ์และความรู้สึก.

เป็นเหตุให้บุคคลที่เติบโตมาจากการเลี้ยงดูเหล่านี้ ขาดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ เนื่องจากเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่รู้จักและไม่คุ้นเคย แต่ด้วยธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคมที่ต้องการการยอมรับและเป็นที่รัก บุคคลที่มีอุปนิสัยแบบนาร์ซิสซัสเองก็เช่นเดียวกัน พวกเขาจะพยายามเสาะหาและเติมเต็มความต้องการดังกล่าวจากผู้คนรอบข้างจนถึงขั้นสุดโต่งจนความสัมพันธ์กลายเป็นพิษ.

การมีความสัมพันธ์ที่ดีไม่ว่าจะเป็นคนรัก ครอบครัว เพื่อนฝูง หรือแม้แต่ในที่ทำงาน คือต่างฝ่ายต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามจำเป็น และในยามปกติแต่ละคนต่างก็ต้องดูแลและสร้างความสุขให้ตนเอง เพราะความสุขของเราเป็นความรับผิดชอบของเรา ซึ่งไม่ใช่กับบุคคลที่มีอุปนิสัยลักษณะนี้ที่ต้องได้รับจากผู้อื่นและมองคนรอบตัวเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยเติมเต็มในสิ่งที่ตนขาด เหมือนเป็นการเทน้ำลงในแก้วที่มีรูรั่ว ต่อให้อีกฝ่ายทุ่มเทมากเพียงใดก็ไม่เคยพอ การอยู่ในความสัมพันธ์กับบุคคลเล่านี้ไม่ว่าจะในฐานะอะไรก็มีแต่จะกัดกินและเบียดเบียนอีกฝ่าย.

บางครั้งพวกเขาก็ใช้เรื่องราวในวัยเด็กที่เจ็บปวดของตนเป็นเครื่องมือเพื่อเรียกร้องความเห็นใจและใช้เป็นข้ออ้างในการทำร้ายผู้อื่น ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่ขาดความอบอุ่นในวัยเด็กจะเติบโตมามีอุปนิสัยแบบนาร์ซิสซัสเพราะทุกคนต่างก็สามารถเลือกที่จะเป็นในแบบที่ตนต้องการได้ มันจึงไม่ใช่ข้ออ้างความถูกต้องที่จะเบียดเบียนหรือทำลายชีวิตของผู้อื่น.

ประเภทของอุปนิสัยแบบนาร์ซิสซัส (Narcissistic personality disorder)

อุปนิสัยแบบนาร์ซิสซัสนั้นสามารถแยกย่อยได้หลายประเภท หลัก ๆ ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปอย่างเด่นชัดจึงยกตัวอย่างมา 5 ประเภท

  1. Grandiose / Overt Narcissism เป็นประเภทที่คลาสสิคที่สุดของบุคคลที่มีอุปนิสัยแบบนาร์ซิสซัส คือ บุคคลที่มีความเชื่อว่าตนเหนือกว่าคนอื่นในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถ ยศฐาบรรดาศักดิ์ ทรัพย์สินเงินทอง และอำนาจบารมี แม้ว่าความเชื่อดังกล่าวอาจจะเป็นความจริงแต่พวกเขามักจะใช้อำนาจของตนในการข่มเหงและควบคุมผู้อื่น โดยเฉพาะบุคคลที่พวกเขามองว่ามีตำแหน่งต่ำกว่าตน และต้องการการสรรเสริญเยินยอ.
  2. Covert Narcissism บุคคลประเภทนี้มองเผิน ๆ แล้วอาจจะไม่เข้าข่ายนัก เนื่องจากพฤติกรรมของพวกเขาค่อนข้างตรงกันข้ามกับประเภทที่หนึ่ง โดยมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นประเภทใด ๆ ก็คือเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง โดยบุคคลประเภทนี้จะใช้วิธีการทำเหมือนตัวเองเป็นเหยื่อ เมื่อมีเหตุการณ์ในแง่ลบพวกเขามักพูดว่าตัวเองโชคร้าย หรือถูกกลั่นแกล้ง โยนความผิดให้ผู้อื่นหรือเหตุการณ์ที่ผจญ และใช้เหตุลเหล่านี้ในการเรียกร้องจากคนรอบข้าง หรือเป็นข้ออ้างในการทำร้ายผู้อื่น.
  3. Antagonist Narcissism เป็นประเภทที่ชื่นชอบการแข่งขัน ชอบเอาชนะ และอยู่เหนือกว่าคนอื่น มักพบเห็นได้ในที่ทำงาน พวกเขาจะใส่ใจภาพลักษณ์และทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ.
  4. Communal Narcissism บุคคลประเภทนี้มักปรากฏเป็นคนใจบุญสุนทาน ทำเพื่อสังคมและส่วนรวม พวกเขามองว่าตัวเองเป็นคนมีจิตใจดีชอบช่วยเหลือคนอื่น แต่ทั้งหมดเป็นการกระทำเพื่อให้ได้รับการยอมรับ ยกย่อง เชิดชูจาก บุคคลอื่นเพียงเท่านั้น สังเกตได้จากหากพวกเขาทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อช่วยเหลือคนอื่น แล้วคน ๆ นั้นไม่ขอบคุณหรือพยายามตอบแทนบุญคุญ พวกเขาจะเปลี่ยนท่าทีจากหน้ามือเป็นหลังมือและโกรธเคืองอีกฝ่ายเป็นอย่างมาก.
  5. Malignant Narcissism เป็นประเภทที่อันตรายมากที่สุด พวกเขามักจะมีท่าทีที่ก้าวร้าว หัวรุนแรง มักก่อการทารุณกรรมอีกฝ่ายทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ การพยายามควบคุม คิดมาและคิดไปเอง หวาดระแวง มักพบเห็นในรูปแบบของคนรัก สามารถพบได้ทั้งชายและหญิง แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ชายซึ่งมีนิสัยหึงหวงรุนแรง ทำร้ายร่างกาย ซึ่งพฤติกรรมทั้งหมดก็เพื่อให้พวกเขารู้สึกมีอำนาจในการควบคุมและบงการอีกฝ่าย.

บุคคลที่มีอุปนิสัยแบบนาร์ซิสซัสนั้นไม่ว่าจะเป็นประเภทใด ที่มาอุปนิสัยแบบนาร์ซิสซัส หลักใหญ่ใจความแล้วพวกเขาให้ความสำคัญกับอีโก้ของตนเองเป็นที่สุด โดยไม่มองย้อนกลับมาที่ตัวเองหรือแสดงความรับชอบต่อการกระทำอันเลวร้ายของตน ความสัมพันธ์ของพวกเขาจึงเป็นแบบผิวเผิน แม้พวกเขาหลายท่านจะเป็นบุคคลสำคัญที่ขับเคลื่อนองค์กร เศรษฐกิจ และประเทศ มีจำนวนไม่น้อยที่ถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์และสร้างความเปลี่ยนแปลง นั่นไม่ได้ทำให้การกระทำที่เห็นแก่ตัวของพวกเขาควรได้รับการให้อภัยหรือยอมรับแต่อย่างใด.